หมวดหมู่ : ข่าวสารทั่วไป
หัวข้อ : สภาเกษตรกรภาคอีสานจับมือกองทัพภาคที่ ๒ รวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์: ๑ ทศวรรษพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดย : admin
อ่าน : 974
พฤหัสบดี ที่ 12 เดือน กันยายน พ.ศ.2562
พิมพ์ 

        วันที่ 29 สิงหาคม 2562 :  ณ กองทัพภาคที่ ๒ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค ๒ ค่ายสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ร่วมกับ สภาเกษตรกรจังหวัด ๒๐ จังหวัดภาคอีสาน  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  “แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด  หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด  หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร  พนักงาน  สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และภาคีเครือข่ายฯ ในพื้นที่ ๒๐ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จำนวนกว่า ๑๐๐ คน  โดยมีพลโทธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ ๒ / ผอ.กอ.รมน.ภาค ๒ เป็นประธานพิธีฯ  และมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย

(๑) เรื่อง  “แนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน” โดยพลโท ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ ๒ / ผอ.กอ.รมน.ภาค 
(2) เรื่อง “การใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” โดย อ.ทอง หลอมประโคน 
(3) เรื่อง “แนวทางในการขอรับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” โดย พันเอกสุรชิน กาญจนจิตติ เลขาธิการศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(4) เรื่อง “การสนับสนุนบ่อบาดาลและการขออนุญาตใช้น้ำบาดาล” โดยวิทยากรจากสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต ๕ นครราชสีมา
(5) การสาธิตระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และเมืองเกษตรอัจฉริยะ  
             อนึ่ง นายสมศักดิ์ คุณเงิน  ประธานคณะกรรมการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบชลประทานเพื่อเกษตรกรรมสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ผลการระดมความคิดเห็นของ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด 20 จังหวัดภาคอีสาน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน  มีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งภาคอีสานอย่างยั่งยืน สรุปดังนี้

1. สภาเกษตรกร 20 จังหวัดภาคอีสาน จะร่วมกับ กองทัพภาคที่ 2 จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 1 ทศวรรษพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและเอาชนะความยากจนให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

2. การขอรับงบประมาณจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เสนอต่อเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ มอบอำนาจให้สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็น Admin ของหน่วยงาน และมอบอำนาจให้หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นผู้จัดการโครงการฯ  โดยแจ้งให้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางดังกล่าว

3. สนับสนุนการจัดทำโครงการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (DEPA)  ยกระดับการใช้เทคโนโลยีภาคเกษตรกรให้ครอบคลุม 20 จังหวัดภาคอีสาน
4. ผลักดันให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) ดำเนินการตามโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ เพื่อจัดหาและบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำโดยแรงโน้มถ่วงในพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สำเร็จ
5. ขอให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กอ.รมน.ภาค 2) จัดทำโครงสร้างขยายสาขาให้มีศูนย์บริหารจัดการน้ำประจำจังหวัด โดยความร่วมมือระหว่าง กอ.รมน.จังหวัด และสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นหน่วยงานร่วม